[บันทึก] R&D เทคนิคป้องกันการดูดรูปภาพจากเว็บ (ขโมยรูป)

สืบเนื่องมาจากโพสนี้ครับ คือ ณ วันที่เขียนบทความนี้ เว็บ www.Nekopost.net (ตอนเข้าต้องมี www. ทุกครั้งไม่งั้น ajax เค้าพัง) ใช้วิธีป้องกันการขโมยรูปโดยใช้วิธีเอารูปจริงๆ ไปใส่ในภาพที่มีพื้นหลังสีขวา และภาพใหม่นั้นขนาดใหญ่กว่าภาพเดิม โดยใส่แบบสุ่มตำแหน่ง แล้วใช้ JS+CSS แสดงเฉพาะส่วนที่เป็นภาพหลักตรงๆ ผลคือหมาไฟ (Firefox) ผมมีโอกาศเพี้ยนเวลาที่มันกิน RAM ไปเยอะแล้วไปอ่านการ์ตูน (หรืออาจจะเป็นเพราะผมมีนิสัยกด END รัวๆเพื่อให้มันโหลดภาพทั้งหมดมาก่อนแล้วค่อยไล่อ่านรึเปล่า) ดังนั้นผมเลยเสนอวิธีไป (จริงๆวิธีที่ 1 คิดได้ตั้งแต่วันแรกที่เห็นมันทำแล้วแหละครับ แต่ไม่ได้ proof เป็น code สักที เพราะผมอยากพยายามหาวิธีที่กันการคัดลอก และดีกว่าที่เค้าใช้อยู่ โดยเชื่อว่าวิธีที่เค้าใช้ไม่ได้ดีที่สุด)

วิธีที่ 1 ใช้อีกภาพเป็น Key แล้วใช้ XOR กับต้นฉบับ

อันนี้เป็นวิธีแรกที่ผมมี Code อยู่ที่นี่ครับ หรือ Download พร้อม Sample Data  ที่นี่ แนวคิดดังนี้

  1. สร้างภาพ Key ขึ้นมา เป็นภาพเล็กๆ สมมุติขนาด 64*64 px โดยแต่ละจุดสร้างจากการสุ่มสีขึ้นมารวมเป็นภาพมั่วๆ
  2. เอาแต่ละจุดของภาพต้นฉบับไป XOR กับภาพ Key ทีละสีเลย โดยใช้คุณสมบัติจาก
    ถ้า a XOR b = c แล้ว c XOR b = a
  3. ที่ Browser ใช้ Canvas ทำ Pixel Manipulation เพื่อทำการ XOR กลับมา
  4. แต่ถ้าสั่งแสดงที่ Canvas เลย ตัว Google Chrome มันเทพเกิน สามารถคลิกขวาที่ Canvas แล้ว Save As ได้ จึงต้องแปลงเป็น Data URI แล้วทำเป็น Background ให้ Div แทน

แต่เมื่อลองทำแล้ว เกิดปัญหาดังนี้

  1. Browser ต้องใหม่ระดับหนึ่ง (เพราะใช้ Canvas)
  2. มันกิน RAM มากๆ เวลาถอดรหัส อาจจะมากกว่าภาพใหญ่ของ Nekopost อีกต่างหาก
  3. ถ้าใช้กับ Mobile ที่ CPU ช้า อาจจะต้องรอนานกว่าภาพจะถอดรหัสเสร็จ (ระดับวินาที) และค่อนข้างกินแบตเตอรี่
  4. บน Tablet ผม (Samsung Galaxy Note 8) มีปัญหาว่า canvas เหมือนมันขี้เกียจทำบางจุด หรือประมวลผลผิดไม่รู้ทำให้มี Noise เป็นจุดสีๆเกิดขึ้นบนภาพ ทั้งๆที่บน PC ไม่เจอ

ดังนั้นแนวคิดนี้ผมเลยตกไป

วิธีที่ 2 สลับตำแหน่งของภาพ แนวคิดแบบตัวต่อจิ๊กซอว์

เป็นวิธีที่ 2 ที่ผมคิดมาแทนอันแรก ซึ่งตกไปในเรื่อง Performance และการใช้งานจริง วิธีนี้สามารถดู Code ได้ที่นี่  หรือ Download พร้อม Sample Data ที่นี่ แนวคิดดังนี้ครับ

  1. แบ่งภาพออกเป็น x คอลัมน์  y แถว โดย x ต้องหารความกว้างภาพลงตัว และ y ต้องหารความสูงภาพลงตัว (ถ้าไม่ลงตัวจะเกิดปัญหาภาพไม่ต่อกัน ดูไม่งามได้)
  2. สุ่มนำภาพแต่ละช่อง ไปวางมั่วๆบนภาพใหม่ แล้วสร้าง meta file บอกว่าเดิมนั้นแต่ละส่วนอยู่ตรงไหน
  3. เวลาแสดงก็อ่าน meta file มาสร้าง div ข้างในแทนแต่ละ block ให้แสดง background ของแต่ละช่องให้ถูกต้อง

ตัวอย่างภาพที่ผมทำ จะประมาณนี้

Before ShuffleBefore After ShuffleAfter

วิธีนี้หลังจากลองในเบื้องต้น พบว่าใช้ได้ OK เลย แต่มันมีปัญหานิดหน่อยใน Code ของผม คือมีส่วนที่ยุ่งเกี่ยวกับ DOM ที่ผมไม่ได้ Optimize อยู่ ดังนั้นถ้าแสดงภาพเยอะๆ จะทำให้เปิด Browser มาแล้วเหมือนค้าง หลังจากนั้นจะเร็วแล้วครับ

ผลจากวิธีที่ 2 สามารถลด RAM ได้มากกว่าวิธีที่ Nekopost ใช้ปัจจุบันเยอะมากครับ

memory_report

จากตาราง แสดงดังนี้

  1. PID 9532 เป็นวิธีจิ๊กซอว์ของผม
  2. PID 456 เป็นของ Nekopost
  3. PID 2756 เป็นภาพต้นฉบับจากเว็บคนแปลเลย (แต่ผมนั้นใช้ Adblock ทำการ block ส่วนของ social media กับ comment ทิ้ง เพื่อให้ขนาดใกล้เคียงนะครับ เหลือพวกภาพ Header กับโครงไว้)

ผลดังนี้ครับ

  • จะเห็นวิธีผมกิน RAM ใกล้เคียงกับขนาดต้นฉบับค่อนข้างมากครับ (เทียบ 9532 กับ 2756) แต่ถ้าเทียบแค่ภาพจริงๆ ต้นฉบับน่าจะน้อยกว่าผม
  • วิธีผมเมื่อเทียบกับ Nekopost ลด RAM เยอะมาก (จริงๆ Nekopost เพิ่ม RAM ที่ต้องใช้มากกว่า) จากเกือบ 400MB เหลือ 220MB (ทำไมภาพแค่ 23 ภาพมันแดก RAM เยอะจังวะ?)
Loading Facebook Comments ...